Search

หากเข้า Google ค้นหาคำว่า "วิธีการออมเงิน" ก็จะเจ...

  • Share this:

หากเข้า Google ค้นหาคำว่า "วิธีการออมเงิน" ก็จะเจอเทคนิคการออมเงินกว่า 14,600,000 บทความ เราจึงมีสูตรออมเงินมีอยู่มากมายให้เราหยิบจับเอาไปใช้ได้ไม่รู้จบ

Barbara O’Neil ผู้เขียนหนังสือ Saving On A Shoestring: How to Cut Expenses Reduce Debt and Stash More Cash ได้เผยเคล็ดลับสำหรับคนอยากออมว่า "การเก็บเงินไม่ต่างอะไรกับโปรแกรมลดความอ้วน มันยากตอนเริ่มต้น และยากขึ้นไปอีกเมื่อต้องจูงใจตัวเองให้ทำต่อเนื่อง" ซึ่งทุกคนต่างรู้ซึ้งกันดีว่าการออมเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนและมีวินัยอย่างมาก
ดั้งนั้น การจัดลำดับความสำคัญและทัศนคติ จึงสำคัญสำหรับการสร้างนิสับการออมเงิน เพื่อที่จะได้หยุดเรื่องแย่ๆ (ไม่มีเงินเก็บ) และได้เริ่มต้นที่ดีๆเสียที (มีเงินเก็บ)

ต่อไปนี้คือ 21 รูปแบบการออม ที่เหล่านักออมหลายคนทำแล้วได้ผล

1.จ่ายให้ตัวเองก่อนอันดับแรก

ให้กันส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่ได้รับ จะมากจะน้อยให้นำไปฝากเข้าบัญชีธนาคารทุกๆ เดือน แล้วอย่าไปยุ่งกับบัญชีนั้นเด็ดขาด ถ้าจำเป็นต้องถอนเงินส่วนนี้ ให้ถือว่ากำลังกู้เงิน เวลาคืนต้องคืนทั้งต้นทั้งดอก

2.เก็บเหรียญทั้งหลายลงกระปุก

ให้เปิดอีกบัญชีสำหรับเงินหยอดกระปุก อย่าดูถูกการสะสมเงินเล็กเงินน้อย จากก้อนเล็กๆ เติบโตกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ในอนาคต

3.เก็บเงินคืนที่ได้รับจากเรื่องต่างๆ เข้าบัญชีธนาคาร

เงินรับที่เป็นเบี้ยหัวแตก เช่น เงินคืนตามโปรโมชันการซื้อสินค้า เงินคืนเบี้ยประกัน รายได้เบี้ยใบ้รายทางต่างๆ ให้รวมเป็นบัญชีเดียว แล้วทำบัญชีไว้ พอถึงตอนสิ้นปีคุณจะตกใจเมื่อรู้รายรับที่ได้จากเงินคืนพวกนี้มันมากขนาดไหน

4.จ่ายเงินค่างวดผ่อนต่างๆ เข้าบัญชีตัวเอง (แม้เมื่อผ่อนค่างวดนั้นหมดแล้ว)

คุณกำลังผ่อนค่างวดรถหรือค่าโทรศัพท์มือถืออยู่หรือใช่เปล่า? ถ้าใช่ ขอให้คุณผ่อนต่อไปด้วยเงินจำนวนเท่าเดิม แต่จ่ายเข้าบัญชีเงินออมของคุณเอง วิธีนี้คุณไม่เดือดร้อนเพราะคุณเคยชินกับภาระผ่อนนั้นๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขว่าคุณไม่มีภาระผ่อนอะไรใหม่ๆ เข้ามาอีก

5.หยุดนิสัยฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย

คุณรู้ตัวเองดี...ว่าคุณใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปกับอะไร ให้ตัดรายจ่ายฟุ่มเฟือยต่างๆ ให้ทำรายการขึ้นมาว่าใช้จ่ายค่าฟุมเฟือยอะไรบ้าง แล้วคุณจะแปลกใจว่ายิ่งคิดยิ่งตัดรายการฟุ่มเฟือยได้เรื่อยๆ

6.เพิ่มผลตอบแทนการลงทุน

ไม่ควรยอมรับผลตอบแทนดอกเบี้ยต่ำ เงินออมที่มีอยู่ควรไปสร้างเงินต่อด้วยการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสมดุลในการรับความเสี่ยงด้วย

7.เป็นสมาชิกสหกรณ์

เป็นวิธีง่ายสุดของการออมเงิน พร้อมทั้งเป็นแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอีกต่างหาก

8.ซื้อพันธบัตรรัฐบาล

ถ้าคุณเป็นคนที่เพิ่งเริ่มต้นลงทุน แล้วไม่รู้จะลงทุนอะไรดี หรือหากคุณเป็นคนที่มีความพร้อมในการลงทุนแต่ไม่อยากแบกรับความเสี่ยงกับการลงทุนในกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนรวมหุ้น ที่ให้ผลตอบแทนสูง ทางเลือกในการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอาจคือคำตอบของคุณ เพราะพันธบัตรรัฐบาล เป็นรูปแบบของการลงทุน ที่มีความน่าเชื่อถือสูง และเป็นรูปแบบของการออมเงินอย่างหนึ่ง แต่ให้ผลตอบแทนดีกว่าการออมในรูปแบบของการฝากประจำหรือฝากออมทรัพย์ เพราะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่า

9.ใช้ประโยชน์จากการโอนเงินบัญชีธนาคาร

เมื่อเงินเดือนถูกนำฝากเข้าในบัญชีของคุณแล้ว คุณควรให้มันอยู่ในบัญชีธนาคารให้นานที่สุด

10.เข้าร่วมแผนออมเงินของบริษัท

แผนการออมของบริษัทเป็นแผนออมเงินแบบปลอดภาษี และนายจ้างช่วยจ่ายสมทบ เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับลูกจ้าง

11.ใช้การเสียภาษีให้เป็นประโยชน์

เรียนรู้เรื่องภาษี ประโยชน์ที่คุณไม่ควรเสียและประโยชน์ที่คุณควรได้ เพราะตราบใดที่ยังมีงานทำเราก็ยังคงต้องเสียภาษี การเรียนรู้วิธีการลดหย่อนภาษีจะช่วยให้เรามีเงินเก็บที่มากขึ้น

12.เข้าโครงการออมเงินที่น่าสนใจ

การสะสมทรัพย์สินนปัจจุบันไม่จำเป็นต้อง บ้าน ที่ดิน หรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าแพงๆอีกแล้ว ทุกวันนี้แม้แต่ชื่อ Domian name ก็ยังสามารถกลายเป็นทรัพย์สินได้ ขอแค่เปิดหูเปิดตาให้กว้าง แล้วจะโปรแกรมออมที่คุณนึกไม่ถึงรออยู่

13.โชคดีมาไม่บ่อย ควรฝึกทดทนไว้บ้าง

เงินก้อนใหญ่ไม่มาบ่อยครั้ง เช่น เงินโบนัส ถูกหวย ถูกรางวัล เงินปันผลกองทุน ฯลฯ เงินก้อนนี้ควรนำไปใช้ในการออม ลงทุนต่อยอด หรือเพื่อการเกษียณอายุในอนาคต

14.รัดเข็ดขัดชั่วคราว

ถ้าอยากได้อะไรมากๆ ลองรัดเข็มขัดในช่วงเวลาหนึ่งๆ เช่น 2-3 เดือน เพื่อออมเงินให้มากกว่าปกติ เก็บเงินได้เท่าราคาของแล้วจึงค่อยกลับสู่การดำเนินชีวิตปกติ

15.ฝากเงินเข้าบัญชีส่วนบุคคลเพื่อการเกษียณอายุสัปดาห์ละครั้ง

ในต่างประเทศนิยมมาก มีการทำบัญชีฝากสะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายก้อนใหญ่เพียงครั้งเดียว สำหรับไทยมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งนายจ้างจ่ายสมทบให้

16.ให้นำเงินเดือนส่วนเพิ่มไปฝาก

ถ้ารับเงินเป็นรายสัปดาห์หรือราย 2 สัปดาห์ อาจเป็นได้ว่าบางเดือนคุณจะได้รับเงินมากครั้งกว่าปกติ เช่น ถ้าได้รับเงินเป็นรายสัปดาห์ จะมี 4 เดือนที่ได้รับเงินมากครั้งกว่าปกติ หรือถ้าได้รับเงินเป็นราย 2 สัปดาห์ จะมี 3 เดือนที่คุณได้เงินเดือน 3 ครั้ง ครั้งที่เกินมาให้นำไปเข้าบัญชีเงินออม (ทันที)

17.เก็บเงินเบิกรายการต่างๆ ส่วนที่เกินจากรายจ่ายจริงเข้าบัญชีเงินออม

ค่าเดินทางหรือรายจ่ายอื่นที่เบิกบริษัทได้ ควรเก็บส่วนเกินจากรายจ่ายจริงไว้ หรือคุณอาจได้ค่าล่วงเวลา ควรเก็บเงินส่วนนี้มาออมเช่นกัน เช่น ได้ค่าล่วงเวลาเดือนละ 2,000 บาท ถึงสิ้นปีจะมีเงินก้อน 2.4 หมื่นบาท สามารถนำมาใช้จ่ายในกรณีพิเศษโดยไม่ต้องไปถอนเงินออมหลัก

18.ยืมมาออม

บางคนประสบความสำเร็จในการกู้เงินธนาคาร แล้วนำกลับไปฝากในบัญชีเงินออมของตนเองอีกทีหนึ่ง วิธีนี้ใช้ได้ผลกับคนที่กำลังมีค่าหักลดหย่อน (เช่น กู้ซื้อบ้าน) และใช้ได้กับช่วงเวลาที่ดอกฝากมากกว่าดอกกู้ (หลังภาษี) เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องพูดถึง

19.นำเงินปันผลและดอกเบี้ยไปต่อเงินโดยอัตโนมัติ

เมื่อลงทุนหรือฝากเงินในผลิตภัณฑ์ทางการเงินใดๆ จัดการให้เงินปันผลหรือดอกเบี้ยสามารถนำฝากหรือลงทุนต่อได้อัตโนมัติ อดทนกับมันซักหน่อยเพื่อผลลัพธ์ในระยะยาว

20.ทิ้งเงินไว้ในบัญชีกระแสรายวันให้น้อยที่สุด

การทิ้งเงินไว้ในกระแสรายวัน ทำให้คุณกำลังพลาดโอกาสในการทำเงิน ที่ควรก็คือมีเงินในกระแสรายวันให้พอกับรายจ่ายรายเดือน หากเงินเหลือให้โอนไปยังบัญชีเงินฝากที่มีดอกเบี้ยหรือโอนไปลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินที่มีดอกเบี้ยดีสุดในเวลานั้น

21.จ่ายหนี้ให้หมด

แค่เคลียร์หนี้บัตรเครดิต คุณก็จะได้ผลตอบแทนถึง 17-21% สมมุติถ้ายอดหนี้ของคุณอยู่ที่ 2.4 หมื่นบาท ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งปีอยู่ที่ 4,000-5,200 บาท รีบเคลียร์หนี้ให้หมด ผลตอบแทนที่จะได้คือไม่ต้องเสียดอกเบี้ยก้อนนี้ การปลอดหนี้บัตรจึงเป็นวิธีออมเงินก้อนใหญ่ แต่ถ้าจำเป็นต้องมีหนี้ (จริงๆ) หาบัตรที่ดอกถูกสุดมาใช้

การใช้วิธีออมเงิน 21 รูปแบบทีเดียวบางทีก็อาจจะยากเกินไป ให้ลองเลือกรูปแบบที่เหมาะสมซัก 2-3 รูปแบบ และเอาใช้แบบจริงจังจนฝึกเป็นนิสัย จากนั้นค่อยเพิ่มรูปแบบอื่นเข้าไปเรื่อยๆ วิธีนี้จะง่ายกว่า เพราะจะไม่เป็นการกดดันตัวเองเกินไปจนอยากจะล้มเลิกนั่นเอง


Tags:

About author
not provided
ปรุงอาหารสมอง ปรุงอาหารความคิด ไปกับสาระศาสตร์
View all posts